พัฒนาสมองด้วยศิลปะ

    ศิลปะคือความงามของธรรมชาติเป็นสิ่งที่กำเนิดมาพร้อมมนุษย์ หน้าที่ของศิลปะคือการสร้างความสุนทรียะให้กับชีวิตของเรา นอกจากนี้ศิลปะยังช่วยขัดเกลาจิตใจ และรักษาอาการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจได้อีกด้วย เมื่อไม่นานมานี้ยังพบว่าศิลปะสามารถพัฒนาสมองได้อีกด้วย…

    ศิลปะคือความงามของธรรมชาติเป็นสิ่งที่กำเนิดมาพร้อมมนุษย์ หน้าที่ของศิลปะคือการสร้างความสุนทรียะให้กับชีวิตของเรา นอกจากนี้ศิลปะยังช่วยขัดเกลาจิตใจ และรักษาอาการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจได้อีกด้วย เมื่อไม่นานมานี้ยังพบว่าศิลปะสามารถพัฒนาสมองได้อีกด้วย

    จากข้อมูลการศึกษาของนักประสาทวิทยา (Neuroscientist) พบว่า เหตุผลที่ทำให้มนุษย์มีความเฉลียวฉลาด มาจากการที่เซลล์สมองสามารถเชื่อมต่อกันเป็นวงจรประสาท (neural circuit) ยิ่งเซลล์ประสาทเหล่านี้เชื่อมต่อกันเป็นวงจรและสามารถจัดระเบียบได้ดีมากเท่าใดก็จะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของสมองมากขึ้นตามไปด้วย หรือก็คือการทำให้มนุษย์มีความฉลาดนั่นเอง ส่วนปัจจัยที่ทำให้เซลล์สมองเชื่อมต่อกันเป็นวงจรที่สมบูรณ์นั้นเป็นผลมาจากการกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ นั่นเอง 

    ในทางจิตวิทยา กิจกรรมทางศิลปะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านจินตนาการแก่มนุษย์ สร้างความอ่อนโยนทางอารมณ์ เป็นจุดกำเนิดสุนทรียภาพและความประทับใจ นอกจากนี้ในขณะที่เราลงมือทำงานศิลปะ เช่น การแสดง การเต้น การวาด การปั้น การร้อง การเขียน อวัยวะส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมเหล่านั้นเกิดการเคลื่อนไหว ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันของเซลล์สมองในสมองส่วนหน้า (cerebral cortex) ซึ่งทำงานในเรื่องจินตนาการ สมองส่วนกลาง (parietal lobe) และสมองน้อย (cerebellum) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับอารมณ์

    ในเด็กการใช้ศิลปะช่วยพัฒนาสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเนื่องจากสมองของเด็กอยู่ในช่วงวัยที่กำลังพัฒนา เราอาจเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับเด็กให้ได้ว่า การเรียนหรือทำงานศิลปะนั้นมิได้มีจุดมุ่งหวังให้เขาเติบโตขึ้นเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการทำงานไปอย่างมีความสุขโดยไม่ยึดติดกรอบทางความคิด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความสวยงาม ให้เน้นความอิสระและการได้ปลดปล่อยจินตนาการเป็นสำคัญ เพราะนั่นคือรากฐานอันสำคัญของอีกหลายๆ เรื่องในชีวิตของเด็กเมื่อเติบโตในอนาคต นอกจากนี้หากสังเกตดีดีแล้วจะพบว่า ศิลปะ ยังทำหน้าที่ในการสื่อสารเปรียบเสมือนอีกหนึ่งภาษาของมนุษย์ งานทำงานศิลปะจึงเหมือนการได้สื่อสารเรื่องราวและอารมณ์บางอย่างออกมา ซึ่งง่ายกว่าการพูดหรือเขียน ความรู้สึกหรือเรื่องราวเป็นตัวบ่งชี้ถึงระบบการทำงานของสมองได้เช่นกัน ว่าสมบูรณ์เพียงใด 

    ในวัยที่เป็นผู้ใหญ่ ศิลปะอาจพัฒนาสมองในมุมที่แตกต่างจากวัยเด็กอยู่บ้าง โดยผู้ใหญ่จะเลือกเสพงานศิลปะมากกว่าการลงมือปฏิบัติ จึงให้ผลในการสร้างความอิ่มเอมใจและผลต่ออารมณ์มากกว่าการเชื่อมต่อประสานส่วนต่างๆ ในสมองเหมือนในเด็ก เราจึงมักเห็นผู้ใหญ่จินตนาการโดยเชื่อเข้ากับประสบการณ์ในชีวิตในฐานะผู้ที่มีการใช้สมองส่วนเหตุผลและเรื่องราวในชีวิตมากกว่า การใช้งานศิลปะในผู้ใหญ่จึงเหมือนการชวนสมองได้กลับมาใช้งานอย่างสมดุล และให้สมองได้ผ่อนคลายเสียบ้าง การวาด ระบาย ปั้น ถัก แกะสลัก ไม่ใช่สิ่งไร้สาระเสมอไปสำหรับผู้ใหญ่อย่างเราๆ หาเวลาว่างมาทำงานศิลปะบ้าง ให้หัวใจและสมองได้กลับมาทำงานร่วมกันอีกซักที

 

ที่มาข้อมูล: นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 317 เดือนกันยายน ปี 2548 บทความพิเศษ โดย นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร