แรงบันดาลใจ หรือ ใจบันดาลแรง

        เรามักพูดกันจนติดปากเวลาที่เราทำอะไรนานๆ ซ้ำๆ แล้วเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย หรือไม่อยากทำสิ่งนั้นต่อไปแล้วว่า “อยากได้แรงบันดาลใจใหม่” เพราะเราเชื่อว่าสาเหตุที่เราเป็นแบบนี้เกิดจากความคิดที่ว่าเราขาดจิตใจ หรือความรู้สึกที่อยากจะทำอะไรเหล่านั้น…

        เรามักพูดกันจนติดปากเวลาที่เราทำอะไรนานๆ ซ้ำๆ แล้วเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย หรือไม่อยากทำสิ่งนั้นต่อไปแล้วว่า “อยากได้แรงบันดาลใจใหม่” เพราะเราเชื่อว่าสาเหตุที่เราเป็นแบบนี้เกิดจากความคิดที่ว่าเราขาดจิตใจ หรือความรู้สึกที่อยากจะทำอะไรเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วความรู้สึกที่ว่านั้นมีอิทธิพลมากถึงขั้นที่จะสามารถควบคุมร่างกายเราให้ห่อเหี่ยว อยากนอนทิ้งตัว ไม่อยากทำอะไรได้ขนาดนั้นเชียวหรือ เรื่องนี้ช่างเป็นปริศนาที่น่าสนใจเลยทีเดียว

        ไม่ใช่เพียงแค่เราเท่านั้นที่สนในเรื่องนี้ ในหนังสือชื่อ Phantoms in the Brain เขียนโดย คุณหมอรามาจันดรัน (Vilayanur S. Ramachandran) ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสมองและการรับรู้ (Center for Brain and Cognition) ณ มหาวิทยาลัยประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย คุณหมอท่านนี้ได้ทำการทดลองความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสกับสมองที่ส่งผลต่อร่างกาย จึงได้ค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้วความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับพวกเรานั้น เป็นสิ่ง “เสมือนจริง”ที่ถูกสร้างขึ้นจากการทำงานของเซลล์ประสาทในสมองของเราเอง ในสมองส่วนที่เรียกว่า Somatosensory Cortex ซึ่งมีลักษณะเป็นแถบเหมือนที่คาดผม ซึ่งคาดอยู่ตรงกลางศีรษะค่อนไปด้านหลัง หน้าที่หลักของสมองส่วนนี้คือบ่งบอกความรู้สึกเมื่อมีสิ่งต่างๆ ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสของเรา เช่น เมื่อเราเห็นเงินโบนัสของปีนี้น้อยลงกว่าปีที่แล้ว สมองจะสั่งการให้เกิดความรู้สึกท้อแท้และแสดงออกทางร่างกายที่แสดงถึงความห่อเหี่ยว เช่น ห่อไหล่ ค่อมหลัง เป็นต้น ในขณะเดียวกันหากประสาทสัมผัสรับรู้การดีใจ ร่างกายก็จะแสดงออกอย่างอื่น เช่น ตาเปิดกว้าง เลือดสูบฉีด กระตือรือร้น เป็นต้น อีกหนึ่งตัวอย่างของความเสมือนจริงหากพูดถึงเรื่องนี้ คือ คุณหมอได้ทำการทดลองนำผู้พิการที่ไร้แขนขามาทำการอาสาทดลอง พบว่า แม้อวัยวะส่วนนั้นๆ ขาดหายไป แต่สมองส่วนรับความรู้สึกยังคงทำงานเป็นปกติอยู่ กล่าวคือ เราจะยังมีความรู้สึกต่ออวัยวะนั้นๆ แม้มันจะไม่มีอยู่แล้วก็ตาม แบบนี้จึงเป็นการอธิบายได้ว่า แม้เราจะมีร่างกายที่ไม่เหมือนคนอื่น หรือขาดหายไป ก็ไม่ได้ทำให้เรามีความรู้สึกด้อยไปกว่าใครในโลกใบนี้ เรายังคงสามารถทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ได้ ตราบเท่าที่เรามีกำลังใจที่ดีต่อตนเอง แล้ววิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้เกิดอาการใจบันดาลแรงที่เราสามารถพบเจอได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน

        หาสิ่งท้าทายใหม่ๆ ที่ตนเองไม่ค่อยคุ้นเคยนัก เพื่อให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่จะเอามาใช้ในชีวิตทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว อาจจะผ่านการฟัง การอ่าน การดู รวมถึงการลองลงมือทำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเปิดเส้นทางหรือความรู้สึกแปลกใหม่ที่จะทำให้ชีวิตเกิดความกระตือรือล้น

        หาบุคคลต้นแบบ ในโลกใบนี้มีบุคคลตัวอย่างมากมายที่สามารถกระตุ้นความรู้สึกเพื่อให้เราก้าวไปสู่เส้นทางต่างๆ ได้ ไม่เพียงแต่คนที่มีชื่อเสียง แต่นักปราชญ์หรือคนธรรมดา รวมถึงคนใกล้ตัวก็สามารถสร้างการกระตุ้นให้เราลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อตัวเองได้

        มองหาคุณค่าดีดีในตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการกลับมามองส่วนลึกภายในตนเอง ในตัวของมนุษย์ทุกคนมีส่วนดีที่แตกต่างกันไป การทบทวนสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยาวนานและแข็งแกร่ง เพราะกำเนิดจากภายในของตนเอง

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือ Phantoms in the Brain: Probing the Mysteries of the Human Mind เขียนโดย Ramachandran ปี 1998

บทความ phantom limb, Somatosensory cortex Ramachandran ภาควิชาจิตวิทยา Uc san Diego ปี 1999