เรียนไม่เก่ง ไม่ได้แปลว่าโง่

คิดว่าหลายคนคงเคยเกิดความอิจฉาเพื่อนหรือคนใกล้ตัว น้อยใจตัวเอง ว่าทำไมฉันถึงได้ไม่เก่งหรือไม่ฉลาดอย่างคนอื่นๆ เขาบ้าง ทำไมเราไม่มีความสามารถหรือคิดเรื่องบางอย่างไม่ได้ เรานี่ช่างไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย  ในสังคมไทยนั้นหากพูดกันถึงเรื่องของความฉลาดแล้ว…

คิดว่าหลายคนคงเคยเกิดความอิจฉาเพื่อนหรือคนใกล้ตัว น้อยใจตัวเอง ว่าทำไมฉันถึงได้ไม่เก่งหรือไม่ฉลาดอย่างคนอื่นๆ เขาบ้าง ทำไมเราไม่มีความสามารถหรือคิดเรื่องบางอย่างไม่ได้ เรานี่ช่างไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย 

ในสังคมไทยนั้นหากพูดกันถึงเรื่องของความฉลาดแล้ว เรามักผูกไว้กับเรื่องของสมองและการเรียน ซึ่งนั่นหมายความว่าหากเราเรียนในระบบโรงเรียนแบบไทยๆ เมื่อเกรดเราออกมาต่ำ นั่นย่อมแสดงถึงระดับความฉลาดที่ต่ำของเราไปด้วยเช่นกัน ซึ่งจริงๆ แล้วความฉลาดนั้นไม่ได้วัดจากเพียงแค่การเรียนเท่านั้น แต่สามารถวัดได้จากการแสดงออกด้านต่างๆ ได้อีกมากมาย เช่น หากจะพูดว่า เราคือคนที่มีความฉลาดที่เข้าใจคนอื่น หรือ เราเป็นคนฉลาดที่สามารถเข้าใจต้นไม้ใบหญ้าสายลมและแสงแดดได้ อาจจะฟังดูค่อนข้างพิลึกอยู่บ้าง แต่ในความเป็นเรื่องจริงแล้วมีข้อมูลที่มีการพิสูจน์เกี่ยวกับเรื่องนี้โดย ดร.โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) แห่งมหาวิทยาลัยฮาววาร์ด ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจและทำการศึกษาได้คิดค้นจนสามารถจัดหมวดหมู่ของความฉลาดในมนุษย์ออกเป็น 8 ด้าน โดยเทียบกับลักษณะการทำงานของสมอง มาลองสำรวจความฉลาดของตัวเองว่าเข้าข่ายข้อไหนบ้าง เพื่อจะได้พัฒนาตัวเองให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง และไม่ต้องโดนครหาอีกต่อไป

1. ความฉลาดด้านภาษา (Linguistic) คนที่มีความฉลาดด้านนี้จะสามารถเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้รวดเร็วจดจำสถานที่และรายละเอียดต่างๆ ได้ ชื่นชอบกลอน เพลง นิทาน สามารถเล่าเรื่องหรือสื่อสารได้ดี

2. ความฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical) เป็นคนที่เชื่อมโยงเหตุและผลได้ดี สามารถแก้ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน จำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ ให้เป็นระเบียบได้ ชอบค้นหาคำตอบและแก้ปัญหา

3. ความฉลาดด้านดนตรี (Musical) มีความว่องไวต่อการได้ยิน เชื่อมร้อยถ้อยคำและท่วงทำนองได้ มีทักษะทางการเล่นดนตรีและร้องเพลง มีอารมณ์สุนทรีย์

4. ความฉลาดด้านร่างกาย (Bodily-Kinesthetic) ชื่นชอบกิจกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว มีความคล่องแคล่วว่องไว สามารถใช้ร่างกายและท่าทางได้ดี ชอบงานที่ได้ลงมือทำ ชอบออกกำลังกายและมักมีความสามารถด้านกีฬา

5. ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial) สามารถสร้างภาพขึ้นในสมอง สามารถแปลงข้อความหรือตัวหนังสือให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สูง จดจำทิศทางได้ดี

6. ความฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal) สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดี มีความเป็นผู้นำ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ชอบพบปะสังสรรค์ มีเพื่อนเยอะ

7. ความฉลาดด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal) มีความตั้งใจและการควบคุมตนเองสูง มีเป้าหมายในชีวิตชัดเจน มีแรงจูงใจในตนเอง ตรงไปตรงมา รักความยุติธรรม เห็นคุณค่าในตนเอง

 

8. ความฉลาดด้านรู้จักธรรมชาติ (Naturalistic) รักการผจญภัย สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ และมนุษย์ มีประสาทสัมผัสที่ไวต่อสภาพดินฟ้าอากาศ รักการปลูกต้นไม้ ใจเย็นมีความอดทนสูง

หากสังเกตจะพบว่า ความฉลาดทั้ง 8 ด้านที่ได้กล่าวมานั้นเป็นการนำเอาลักษณะเด่นของสมองซีกซ้ายและซีกขวามาแบ่งหน้าที่จะจัดหมวดหมู่ เพราะโดยปกติแล้วสมองทั้งซีกของคนเรานั้นทำหน้าที่สอดประสานกัน แต่ในการสอดประสานนั้นจะมีจุดเด่นในบางเรื่องที่เด่นชัดขึ้นมา ในต่างประเทศมีการส่งเสริมความสามารถพิเศษแต่ละด้านหากเด็กๆ เหล่านั้นค้นพบว่าตนเองสนใจเรื่องใด แต่ในประเทศไทยเราจะได้เลือกก็ต่อเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย แต่ในบางครั้งสำหรับบางคนแม้แต่ตอนเข้ามหาวิทยาลัยครอบครัวก็ยังมีอิทธิพลในการเลือกอยู่ดี ในระดับมัธยมนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะเรามีแค่ 2 ทางเท่านั้น คือสายวิทย์และสายศิลป์ ซึ่งมันช่างขัดแย้งกับการทำงานในสมองที่มีความสนใจหรือถนัดกว่านั้นมาก ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการทำความเข้าใจและเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับการทำงานของสมอง และการทำความเข้าใจกับคำว่า ความฉลาด บางทีปัญหาโจทย์ใหญ่เช่นเรื่องระบบการศึกษา อาจแก้ได้ง่ายๆ เพียงแค่การทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ในหัวของพวกเราแค่นั้นเอง

 

 

ที่มาข้อมูล: 

วารสารวิชาการศึกษาศาสตร์ ฉบับที่ 1 - 3 เดือนมกราคม เรื่องชีวิตและงานของโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ โดย 

รองศาสตราจารย์ ดร.เยาวพา เดชะคุปต์