คุยกับสมอง

“เธอ วันนี้เราไปกินอาหารญี่ปุ่นร้านที่เราไปมาเมื่อสัปดาห์ก่อนกันไหม?”  “อ๋อ ร้านที่มีซุปอร่อยนั่นเอง ไปสิ” คุณรู้หรือไม่ว่าบทสนทนาของคุณกับคนรอบข้างที่ดูเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แท้จริงแล้วคือสิ่งที่บ่งบอกว่าสมองของเรายังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ!!!…

“เธอ วันนี้เราไปกินอาหารญี่ปุ่นร้านที่เราไปมาเมื่อสัปดาห์ก่อนกันไหม?” 

“อ๋อ ร้านที่มีซุปอร่อยนั่นเอง ไปสิ”

คุณรู้หรือไม่ว่าบทสนทนาของคุณกับคนรอบข้างที่ดูเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แท้จริงแล้วคือสิ่งที่บ่งบอกว่าสมองของเรายังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ!!!

จากการศึกษาของนายแพทย์คาโต้ โทะชิโนะริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย รักษา และพัฒนาสมอง พบว่า เราควรพูดคุยกับคนรอบข้างด้วยความสนุกสนานอยู่เสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งสมองส่วนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของระบบลิมบิก (Limbic system) ทำหน้าที่สำคัญในการสร้างความทรงจำ โดยเฉพาะความทรงจำในระยะยาว และเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่างๆ ในระหว่างที่คนเราสนทนาพูดคุยกัน สมองใหญ่ (Cerebrum) จะทำงานร่วมกับฮิปโปแคมปัส เพื่อทำหน้าที่บันทึกความทรงจำ หากฮิปโปแคมปัสไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็จะไม่สามารถจดจำเนื้อหาในการสนทนาได้ ดังเช่นในกรณีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จะเกิดความผิดปกติบริเวณเอ็นโทไรนัลคอร์เท็กซ์ (Entorhinal Cortex: EC) ซึ่งอยู่ใกล้กับ

อมิกดาลา (Amygdala) อันเป็นศูนย์กลางในการแสดงความรู้สึก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่สามารถแสดงอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวหรือการสนทนาได้ หรือบางครั้งก็มีการแสดงอารมณ์ที่แปรปรวน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ ดังนั้น สมองที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เราสามารถสนทนาโต้ตอบกับคนรอบข้างได้อย่างราบรื่น ช่วยให้เราสามารถมุ่งความสนใจไปที่คู่สนทนา และตอบกลับด้วยเนื้อหาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความเหมาะสม

หากสมองของคุณยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างบทสนทนาที่ดีก็เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และการฝึกฝน เพื่อให้เราสนุกกับการพูดคุยกับคนรอบข้างในชีวิตประจำวัน คุณโยะชิดะ ฮิซะโนะริ พิธีกรดำเนินรายการประจำสถานีวิทยุนิปปง บรอดคาสติ้ง ซิสเต็ม ชื่อดังของญี่ปุ่น ได้ค้นพบเทคนิคบางอย่างที่ช่วยปรับแก้ความบกพร่องด้านการสื่อสาร และพัฒนาไปสู่การสร้างบทสนทนาที่ดีได้ จากการวางเป้าหมายของการพูดเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และมองการพูดคุยให้เป็น “เกม” โดยอยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นเวลาพูดคุยเสมอ เช่น 

1. ฝึกพัฒนาทักษะในการตั้งคำถาม โดยเริ่มจากการเลือกคำถามที่คู่สนทนาสามารถตอบได้ง่ายและสามารถนำไปพูดคุยต่อยอดได้ 

2. ฝึกการ “อ่านบรรยากาศ” หรือวิเคราะห์สถานการณ์ขณะพูดคุย จากการสังเกตภาษากายของคู่สนทนา เช่น สีหน้าหรือน้ำเสียง เพื่อปรับอารมณ์ให้เข้ากับคู่สนทนา

3. ลดการพูดคำที่มีความหมายในแง่ลบ เช่น คำว่า “ไม่” เพื่อลดการกระตุ้นสัญชาตญาณการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของมนุษย์ และลดความรู้สึกด้านลบที่อาจเกิดขึ้น 

เทคนิคเหล่านี้ สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองโดยการฝึกให้เราใส่ใจคู่สนทนา และช่วยพัฒนาการสนทนาที่ดีกับคนรอบข้างในชีวิตประจำวันของเราให้มีความสนุกมากขึ้นได้

 

ที่มาข้อมูล: 

หนังสือ: เทรนสมองให้ไกลอัลไซเมอร์: นายแพทย์คาโต้ โทะชิโนะริ เขียน โมริตะ โทมิ แปล

หนังสือ: ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง: โยะชิดะ ฮิซะโนะริ เขียน โยซุเกะ แปล