สมองไม่ชอบ...คนหัวร้อน

อารมณ์โกรธ โมโห เป็นอาการปกติที่ใครๆก็เป็นกันได้ตราบใดที่ความโกรธ ฉุนเฉียวที่เกิดขึ้นยังไม่ได้ไปบันดาลโทสะออกอาการระรานใคร หรือที่เราเรียกกันสมัยนี้ว่า “อาการหัวร้อน” นั่นเอง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนแล้ว…

อารมณ์โกรธ โมโห เป็นอาการปกติที่ใครๆก็เป็นกันได้ตราบใดที่ความโกรธ ฉุนเฉียวที่เกิดขึ้นยังไม่ได้ไปบันดาลโทสะออกอาการระรานใคร หรือที่เราเรียกกันสมัยนี้ว่า “อาการหัวร้อน” นั่นเอง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนแล้ว สมองของคุณเองก็ได้รับผลกระทบอย่างจังเช่นกัน

“หัวร้อน” สมองร้อนจริงๆนะ

คำว่า “หัวร้อน” ที่เราใช้กันทุกวันนี้ฟังดูเหมือนแค่เป็นคำเปรียบเปรย

แต่จริงๆแล้วในเชิงประสาทวิทยา หรือ Neuroscience พบว่า เมื่อเราอยู่ในอารมณ์โกรธ สมองด้านความคิดของเรากำลังทำงานหนักมากเพื่อประมวลผลหาคำตอบในประเด็นที่ไม่เข้าใจและไม่พอใจ

เป็นสภาวะที่สมองต้องใช้ออกซิเจนมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการเสียสมดุล และหากเราไม่สามารถดึงความสมดุลกลับมา จะทำให้สมองด้านความคิดไม่สามารถแยกแยะความเป็นเหตุเป็นผลได้

เพราะฉะนั้นเมื่อเราเจอสถานการณ์ชวนหัวร้อน ไม่ว่าจะเป็น โดนรถขับปาดหน้า หรือของโปรดที่เราแช่เย็นไว้ในตู้เย็นที่ออฟฟิศแล้วจู่มีคนมาแอบกินไป สมองของเราจะไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและพยายามหาคำตอบ

หรือเมื่อได้รับฟังคำตอบแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ สมองจึงทำงานผิดปกติ และเป็นที่มาของอาการหัวร้อนนั่นเอง

 

หัวยิ่งร้อนง่าย สมองยิ่งพังง่าย

คริส อายเก้น (Chris Aiken) จิตแพทย์จากสถาบัน Wake Forest University School กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

หากเราอยู่ในสภาวะหัวร้อนบ่อยๆจะทำให้สมองเสื่อมก่อนถึงวัย เพราะเหมือนเราเปิดๆปิดๆเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้อายุการใช้งานของมันสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็น สมองของเราก็เช่นกัน

ดังนั้น เมื่อเราเริ่มรู้สึกมีอาการหัวร้อนขึ้นมา ลองสูดหายใจลึกๆยาวๆเพื่อดึงออกซิเจนให้ขึ้นไปเลี้ยงสมองให้เพียงพอ

นอกจากนี้ การนับเลข 1 ถึง 100 ในใจก็จะช่วยดึงสติของคุณได้ดีมาก เพราะเป็นการหลอกล่อให้สมองกลับมาทำงานปกติ และช่วยให้เราสามารถใช้เหตุผลทำความเข้่าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณรู้สึกว่ารับมือไม่ไหวจริงๆ การพาตัวเองออกมาเป็นทางเลือกที่ดีที่คุณเลือกได้ เพราะจะช่วยตัดวงจรการรับรู้ข้อมูลที่สับสนของสมองนั่นเอง