ความจำสั้น เทคโนโลยีนั้นยาว

ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น ที่สามารถพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ กันทุกปี ของที่อยู่ในมือเรา อีกไม่กี่ปีก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ตกรุ่นล้าสมัยไป…

ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น ที่สามารถพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ กันทุกปี ของที่อยู่ในมือเรา อีกไม่กี่ปีก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ตกรุ่นล้าสมัยไป หลายคนติดตั้งเทคโนโลยีเหล่านั้นให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ไม่สามารถขาดหายไปได้ สิ่งที่น่าสนใจคือในข้อดีที่เครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างสีสันความบันเทิงให้กับเราได้นั้นแต่ในทางกลับกันก็มีข้อด้อยที่หลายคนอาจไม่ทันได้นึกถึงหรือมีข้อมูลมากพอที่จะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งานเครื่องมือเหล่านั้น ข้อมูลต่อไปนี้อาจจะทำให้คุณใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างสมเหตุสมผลและใช้สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

    โดยปกติแล้วในขณะที่เราใช้งานอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายนั้นสมองจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากเราไม่ใช้งานหรือใช้งานน้อยลงสมองในส่วนนั้นก็จะทำงานน้อยลงตามไปด้วย คำอธิบายเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนเมื่อมีการคิดค้นเครื่องมือวัดอัตราออกซิเจนในสมอง (COE: Cerebral Oxygen Exchange) ซึ่งเครื่องนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าสมองส่วนไหนทำงานได้ดี หรือ สมองส่วนไหนที่ด้อยประสิทธิภาพ โดยดูจากปริมาณออกซิเจนขณะที่เกิดการทำงานในร่างกาย หากสมองมีการใช้และแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีแสดงว่าสมองส่วนนั้นทำหน้าที่ได้ตามที่ควรจะเป็น จากการทดสอบ พบว่า ในขณะที่เราใช้เครื่องมือเทคโนโลยีทั้งหลายนั้น สมองเจ้าสู่ภาวะการประหยัดพลังงาน หรือ ใช้ออกซิเจนน้อยนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้อยู่เป็นประจำก็จะทำให้สมองเกิดความเคยชิน เเละเสื่อมสภาพเร็วมากขึ้น ในความเป็นจริงแล้วอายุเฉลี่ยของสมองจะเริ่มเสื่อมสภาพราวๆ เมื่อเราอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่หากเราใช้เทคโนโลยีอย่างหนักตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก นั่นหมายถึงการเร่งให้สมองเสื่อมได้เร็วยิ่งขึ้น ลองนั่งดูภาพตัวเราในสมัยก่อนที่โทรศัพท์มือถือยังไม่มีแอปพลิเคชั่นต่างๆ มากมายดังเช่นในปัจจุบันนี้ เราจำเป็นต้องจดจำเบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญๆ ให้ได้ ในขณะที่ปัจจุบันไม่มีใครใช้สมองจดจำตัวเลขเหล่านั้นอีกแล้ว เราเก็บไว้ในอีเมล์ หรือ ในฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ เรื่องการบวกลบคูณหาร เมื่อเราซื้อของกับพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ว่าตัวเลขจะน้อยหรือง่ายเพียงใด เราก็จะใช้เครื่องคิดเลขช่วยคิดให้เสมอ เราเดินทางไปในที่ที่ไม่คุ้นเคยผ่านการใช้ระบบนำทาง GPS ที่เราสามารถใช้โดยที่ไม่ต้องสังเกตสิ่งใดระหว่างทางเลย ตัวอย่างบางส่วนเหล่านี้เป็นเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่เราตัดขาดการใช้งานจากสมอง ทั้งที่ในความจริงแล้วสมองมีประสิทธิภาพที่สามารถใช้งานได้อย่างน่ามหัศจรรย์ จากการศึกษาพบว่า สมองของคนเราสามารถพัฒนาได้ตลอดชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย หากเราสามารถปรับสภาพสมองได้ตั้งแต่ในช่วงอายุ 30 - 40 ปี จะทำให้สมองยังคงอยู่ในสภาพที่แข็งแรงพร้อมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปได้ เทคโนโลยีนั้นสามารถใช้ได้แต่ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมเท่าที่จำเป็น วัตถุประสงค์หลักของเทคโนโลยีเหล่านี้คือการใช้เพื่อใช้ชีวิตของเราดีขึ้น และมันจะไม่มีวันสลายหายไปในทางกลับกันมีแต่จะทันสมัยและพัฒนาต่อไปอีกยาวนาน ดังนั้นเราในฐานะผู้ใช้งานจึงควรเลือกใช้ให้เป็น เเละดูแลตัวเองให้ดีที่สุด อายุเฉลี่ยของมนุษย์ไม่ถึงร้อยปี หากอยากมีสมองดีดีที่ไม่เสื่อสภาพคงต้องหันมาใส่ใจกันอย่างจริงจังเสียที

 

ที่มาข้อมูล: งานวิจัยเรื่อง การยอมรับเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชุมชนในภูมิภาค หลักสูตรวิทยาศาสตมหาบัณฑิต วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย สงวนศักดิ์ แก้วมุงคุณ