ความรักใช้สมองหรือหัวใจ?

    หลายคนคงเคยได้ยินว่าความรักนั้นไม่มีเหตุผล ไม่ต้องใช้ความคิด เช่น เวลาเราจีบใครสักคน หรือกล้าทำอะไรบ้าๆ บอๆ อย่างที่ไม่คิดว่าจะกล้าทำมาก่อน เพียงเพื่ออยากชนะใจคนที่เราแอบชอบหรือแอบรัก ตอนที่เราทำนั้นเราคงไม่ใช้สมองไตร่ตรองมากนัก หลายคนอาจเข้าใจว่าการใช้ความคิดหรือเหตุผลนั้นมาจากสมองเป็นหลัก…

    หลายคนคงเคยได้ยินว่าความรักนั้นไม่มีเหตุผล ไม่ต้องใช้ความคิด เช่น เวลาเราจีบใครสักคน หรือกล้าทำอะไรบ้าๆ บอๆ อย่างที่ไม่คิดว่าจะกล้าทำมาก่อน เพียงเพื่ออยากชนะใจคนที่เราแอบชอบหรือแอบรัก ตอนที่เราทำนั้นเราคงไม่ใช้สมองไตร่ตรองมากนัก หลายคนอาจเข้าใจว่าการใช้ความคิดหรือเหตุผลนั้นมาจากสมองเป็นหลัก ส่วนความรู้สึกหรืออารมณ์ต่างๆ นั้นมาจากหัวใจ เช่น ประโยคบอกรักที่เราคงพอจะเคยได้ยินบ่อยๆ “ผมรักคุณหมดหัวใจผม” “ฉันรักเธอดั่งแก้วตาดวงใจ” “รักของฉันไม่มีเหตุผล เพราะใช้ใจล้วนๆ” ฟังดูเหมือนจะยิ่งตอกย้ำว่าความรักนั้นมักใช้ใจมากกว่าเหตุผลจากสมอง สรุปแล้วความรักมันเกี่ยวข้องกับอวัยวะที่ชื่อว่า สมองหรือหัวใจมากกว่ากันแน่ วันนี้เราจะลองไปหาคำตอบกัน

    สิ่งแรกสำหรับบางคนที่มักเข้าใจผิดว่าความรักไม่ใช้เหตุผล ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกอย่างเดียวนั้นในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าความรักเกี่ยวข้องกับสมองโดยตรง หรืออาจจะพูดได้ว่าความรักมาจากสมองก็ว่าได้ เพราะการใช้ความคิด เหตุผลเกี่ยวกับความรักนั้นเกี่ยวข้องกับสมองชั้นนอกที่มีชื่อว่า ซีรีบรัม (Cerebrum) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ประมาณ 80% ของสมองทั้งหมด โดยสมองส่วนนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นและศูนย์กลางของการเรียนรู้ของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นความจำ การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การใช้เหตุผล หรือการตัดสินใจ ซึ่งไม่แปลกถ้าเราจะเรียนรู้ และใช้ความคิดกับความรักผ่านสมองส่วนนี้ และในส่วนของอารมณ์ หรือความรู้สึกต่างๆ ของมนุษย์นั้นมาจากสารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมอง ได้แก่ ระบบลิมบิกในสมองที่ควบคุมความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความกลัว หรือความรู้สึกอื่นๆ เช่น เวลาเราตกหลุมรักใครสักคน ทำไมเราถึงมีอาการตื่นเต้น หรือหัวใจเต้นรัว นั่นเป็นเพราะระบบลิมปิกหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขเมื่อเวลาเราอยู่ใกล้คนที่เรารัก ซึ่งเจ้าโดพามีนสารสื่อประสาทในสมองนี้ นักวิจัยพบว่าเป็นสารเคมีตัวเดียวกันกับสารที่เราได้เมื่อเราเสพสารเสพติด นั่นจึงเป็นเหตุเป็นผลมากๆ ว่าทำไมในคนที่เสพยาในปริมาณขีดจำกัดถึงได้รู้สึกคึกคัก กระปรี้กระเปร่า มีความสุข ดังนั้นเมื่อเจ้าสารนี้หลั่งออกมา ในสมองเราจะเกิดความสุข หรือกล้าทำอะไรบ้าๆ เพื่อคนที่เรารักแบบไม่ต้องคิดมากมาย

    โดยสรุปแล้วหากมองในแง่วิทยาศาสตร์ ความรักจึงมีที่มาจากการทำงานของสมองทั้งในส่วนของเหตุผลที่เป็นสมองชั้นนอก และในส่วนของอารมณ์ความรู้สึกที่มาจากสารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมอง แต่หากเราต้องบอกรักด้วยภาษาวิทยาศาสตร์กับคนที่เราชอบ ประโยคบอกรัก เช่น “ฉันรักเธอสุดสมองของฉัน” หรือ “ฉันขอมอบสมองของฉันให้เธอแทนความรัก” คงฟังดูไม่ค่อยโรแมนติกสักเท่าไหร่ แม้ความรักจะมาจากการทำงานของสมอง แต่ถึงยามที่ต้องบอกความรู้สึกกับใคร เราก็ยอมให้ความรู้สึกได้ออกมาทำงาน โลกนี้จึงต้องอยู่ร่วมกันทั้งเหตุผลรวมทั้งอารมณ์ 

 

 

ที่มาข้อมูล: หนังสือ 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 1 วิทยาศาสตร์ของอารมณ์ ความรัก และความเกลียดชัง เขียนโดย น.พ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา พ.ศ.2553