เด็กเก่งสังคม อารมณ์ดี เริ่มต้นที่บ้าน

วัยอนุบาลเป็นช่วงระยะเวลาสำคัญที่สุดในการวางรากฐานบุคลิกภาพประจำตัวที่ดีของบุคคล นับได้ว่าเป็น “โอกาสทองของการเรียนรู้ หรือ หน้าต่างแห่งโอกาส” (Window of opportunity) เพราะเป็นช่วงที่มีอัตราการเจริญเติบโตของพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมอย่างรวดเร็ว…

วัยอนุบาลเป็นช่วงระยะเวลาสำคัญที่สุดในการวางรากฐานบุคลิกภาพประจำตัวที่ดีของบุคคล

นับได้ว่าเป็น “โอกาสทองของการเรียนรู้ หรือ หน้าต่างแห่งโอกาส” (Window of opportunity) เพราะเป็นช่วงที่มีอัตราการเจริญเติบโตของพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมอย่างรวดเร็ว เด็กวัยนี้จะเริ่มก้าวขาออกจากบ้านเข้าสู่รั้วโรงเรียนอย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ทางสังคม ดังนั้นเด็กจึงจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม “การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม” อย่างเหมาะสมจากครอบครัวเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมและหล่อหลอมการเรียนรู้ของเด็กให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ

การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning: SEL)

เป็นกระบวนการในการเรียนรู้ที่อาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ทางตรงกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อพัฒนาความสามารถด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาอย่างรอบด้าน

การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม แบ่งออกได้เป็น 5 ด้านสำคัญ ได้แก่

1. การตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness)

เป็นการทำความรู้จักและเข้าใจตนเองในด้านข้อดี ความสามารถ และอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง ผู้ใหญ่สามารถพัฒนาเด็กได้หลายวิธี เช่น การให้เด็กช่วยเหลือตนเองและปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ด้วยตนเอง รับผิดชอบงานบ้านง่าย ๆ ช่วยเหลือบุคคลในครอบครัวตามความสามารถ รวมทั้งให้เด็กได้สื่อสารอารมณ์ของตนเองผ่านการทำงานศิลปะ

2. การจัดการตนเอง (Self-management)

เป็นการจัดการอารมณ์เชิงลบของตนเอง และแสดงออกต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ผู้ใหญ่สามารถพัฒนาเด็กได้หลายวิธี เช่น การให้เด็กทำสมาธิหรือกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด การจัดมุมที่เงียบสงบภายในบ้าน การให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการกำหนดข้อตกลงเมื่อต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ

3. การตระหนักรู้สังคม (Social awareness)

เป็นการทำความรู้จักและเข้าใจผู้อื่น และปฏิบัติต่อผู้อื่นได้อย่างสุภาพ ผู้ใหญ่สามารถพัฒนาเด็กได้หลายวิธี เช่น การอ่านหนังสือนิทานแล้วให้เด็กได้สะท้อนถึงอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกทั้งของตนเองและตัวละครในเรื่องที่อ่าน รวมทั้งให้เด็กได้รับฟังและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย

4. ทักษะสัมพันธภาพ (Relationship skills)

เป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วยการให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง ผู้ใหญ่สามารถพัฒนาเด็กได้หลายวิธี เช่น การพาเด็กไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม ได้แก่ การบำเพ็ญประโยชน์ในชุมชน การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น รวมทั้งการพบปะสังสรรค์กับเครือญาติ ผู้ใหญ่และเพื่อนที่มีอายุใกล้เคียงกัน

5. ความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ (Responsible decision making)

เป็นการทำความเข้าใจปัญหา แก้ไขปัญหาด้วยการคำนึงถึงความปลอดภัย และประเมินผลของการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ผู้ใหญ่สามารถพัฒนาเด็กได้หลายวิธี เช่น การพูดคุยเกี่ยวกับข่าวสารหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แล้วให้เด็กได้ระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ วิธีแก้ไขที่สามารถทำได้ และเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป

GeniusX ALPHA สมองอัจฉริยะ ชนะเกมชีวิต
“เพราะเราใช้ความสุข ออกแบบอนาคต”