นิสัย “ขี้อิจฉา” เกิดจากสมอง

คุณเคยมองใครว่าเป็นคู่แข่งมั้ย?  อันที่จริงเรามักจะชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แถมบางครั้งยังพาลต่อยอดความรู้สึกหมั่นไส้ ไม่ชอบ และอิจฉาคนอื่นรอบตัว ไม่ว่าจะเพื่อน พี่ น้อง หรือคนอื่นๆที่เราเห็นชีวิตของเขาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทั้งๆที่นิสัยขี้อิจฉาไม่อยากเห็นใครดีกว่าไม่ใช่นิสัยที่ใครอยากมี!…

คุณเคยมองใครว่าเป็นคู่แข่งมั้ย? 

อันที่จริงเรามักจะชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แถมบางครั้งยังพาลต่อยอดความรู้สึกหมั่นไส้ ไม่ชอบ และอิจฉาคนอื่นรอบตัว ไม่ว่าจะเพื่อน พี่ น้อง หรือคนอื่นๆที่เราเห็นชีวิตของเขาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทั้งๆที่นิสัยขี้อิจฉาไม่อยากเห็นใครดีกว่าไม่ใช่นิสัยที่ใครอยากมี!

“สมอง” สนุกเมื่อเห็นคู่แข่งของเราทุกข์

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน นำโดย  ดร.มีนา ซิคารา ดร.ซูซาน ฟริสก์ และดร.แมทธิว บอทวินิค ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการรับรู้ ได้ศึกษาพฤติกรรมของแฟนเบสบอลทีมบอสตัน เรด ซอกซ์ และทีมนิวยอร์ก แยงกีส์ ซึ่งเป็นทีมคู่ปรับกันมายาวนาน พบว่า เมื่อทีมใดทีมหนึ่งแพ้ สมองส่วน Ventral Striatum ของแฟนคลับของทีมที่ชนะจะมีการตอบสนองเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสมองนี้เป็นส่วนที่สัมพันธ์กับความสนุกสนาน เพลิดเพลินใจ นอกจากนี้ ปฏิกิริยาของสมองในส่วนนี้ยังตอบสนองในแบบเดียวกันเมื่อแฟนคลับแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อเวลาพูดถึงการกระทำที่อยากทำร้ายแฟนคลับอีกฝ่าย และมีความสุขเมื่ออีกฝ่ายทำผิดพลาด

แล้วจะฝึกสมองของเราให้ไม่โดยความอิจฉาครอบงำได้อย่างไร?

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเสพย์ “สื่อ” เป็นตัวกระตุ้นที่มีอิทธิพลทำให้เราเกิดความรู้สึกอิจฉา ไม่อยากเห็นใครดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ ที่เมื่อเราดูพฤติกรรมของตัวร้ายหรือนางอิจฉากลั่นแกล้งหรือทำร้ายตัวละครเอก เราก็ซึบซับทัศนคติและพฤติกรรมแบบนั้นไปโดยไม่รู้ตัว และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้ 

ทฤษฎีนี้ได้รับการพิสูจน์โดยนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ด้านรังสีวิทยาแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ที่ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างโดยให้อาสาสมัครลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นตัวแสดงในละครและสแกนสมองแบบ fMRI พบว่าเมื่อต้องนึกถึงตัวละครฝ่ายตรงข้ามที่พวกเขาอิจฉา จะทำให้ต่อมรับความเจ็บปวดในสมองเกิดแสงวูบวาบขึ้น และเมื่อให้จินตนาการถึงความหายนะที่เกิดขึ้นกับตัวละครเหล่านั้น กลับมีปฏิกิริยาต่อสมองส่วนที่เป็นศูนย์กลางระบบรางวัล ซึ่งเป็นสมองส่วนที่แสดงออกถึงความสุขนั่นเอง

รู้อย่างนี้แล้ว คุณเองก็สามารถสังเกตตัวเองได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกว่าเพื่อน พี่ น้อง หรือคนไหนที่เราเคยรู้สึกดี เคยทักทายกันยิ้มแย้มน่ารัก กลายเป็นคนที่เราเริ่มรู้สึกระแวง เริ่มตีตัวออกห่าง หรือดีใจเมื่อเห็นเขามีความทุกข์ละก็ สมองของคุณกำลังดึงดูดความคิดติดลบเข้ามาเรื่อยๆ แบบไม่รู้ตัวแล้วล่ะ 

ก่อนที่ความรู้สึกไม่พอใจคนเคยรักชอบพอกันจะทวีความรุนแรงไปกว่านี้เราอยากให้คุณกลับมาตั้งหลักความคิดในสมองของคุณใหม่ โดยมีวิธีดังต่อไปนี้

ให้อภัยอดีต - ถ้าต้องเจอปัญหาแล้วมัวแต่โทษตัวเองหรือโทษคนอื่นก็จะยิ่งบั่นทอนจิตใจ เมื่อมีแต่ความคิดเคียดแค้น มองโลกในแง่ลบ เรียนรู้ที่จะให้อภัยกับสิ่งที่ผิดพลาด แล้วค่อยหาทางแก้ไข เริ่มต้นใหม่

มองทุกอย่างด้วยใจเป็นกลาง - เปิดใจรับความคิดใหม่ๆ ปรับจูนกระบวนการคิดด้วยเหตุและผล ทำความเข้าใจเข้าใจเรื่องความแตกต่าง เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่ละคนมีดีไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถเอาคน 2 คนมาเปรียบเทียบกัน

หาจุดเด่นของตัวเอง - เมื่อคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน ลองมองจุดเด่นของตัวเอง แล้วพัฒนามันให้โดดเด่นมากขึ้น ควบคู่กับเรียนรู้จุดอ่อนของตัวเองเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

ความอิจฉา หรือมองคนอื่นเป็นคู่แข่ง จริงๆแล้วในมุมของนักจิตวิทยามองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เมื่อมาอยู่ร่วมกัน แต่หากปล่อยให้สมองติดอยู่กับกลไกการคิดแบบติดลบไปเรื่อยๆ คงไม่เป็นผลดีกับการใช้ชีวิตในสังคมแน่ๆ

การเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และลองถอยออกมาจากสื่อที่เป็นสิ่งกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่องโซเชียลมีเดีย หรือการเสพย์ข้อมูลมุมใดมุมหนึ่งที่มากเกินไปสามารถช่วยติดเบรคให้กับสมองของคุณให้ได้พัก และกลับมาตั้งหลักกับตัวเองใหม่อีกครั้ง แล้วคุณจะเห็นโลกที่กว้างขึ้น พร้อมกับการมองโลกที่ไม่ต้องเอาตัวเองไปวัดความสำเร็จกับใคร